วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ คือจุดเริ่มต้นความขัดแย้งในสังคมไทย

เมื่อสองอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้สนทนาโดยบังเอิญกับผู้อาวุโสท่านหนึ่ง ระหว่างไปร่วมงานพิธีศพ ท่านบอกว่า การเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่ทำกันอยู่นี่ มันไม่ถูกต้องเพราะประชาชนไม่ได้เลือกโดยตรง และอีกอย่างหนึ่งมันทำให้ประชาชนเกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกเกิดการขัดแย้ง แตกความสามัคคีกันเองจนถึงทุกวันนี้  ซึ่งตอนนั้นผมก็รับฟังแต่ไม่ได้แสดงความเห็นใดๆ

หลังจากนั้นมา ผมก็ครุ่นคิดว่าทำไม? ท่านถึงกล่าวอย่างนั้น จึงพยายามค้นหาหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ดู    ผมได้ไปพบหนังสือเล่มหนึ่งที่เพื่อนถ่ายเอกสารมาให้ชื่อว่า "แฉรัฐธรรมนูญ ฉบับ ล้มพุทธ ล้มเจ้า" เขียนโดย สะอาด จันทร์ดี เลยลองอ่านทบทวนดูอีกครั้ง ก็พอจะมองเห็นและเข้าใจในสิ่งที่ผู้อาวุโสท่านนั้นได้กล่าวเอาไว้ 

จุดหมกเม็ดในรัฐธรรมนูญ 2540
รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 99 คน (สสร.)  รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มี ส.ส. 2 ประเภท คือ
  • ประเภทที่ 1 เป็น ส.ส.เขต จำนวน 400 คน
  • ประเภทที่ 2 เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน
  • ส่วนสมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งอีก 200 คน
การหมดเม็ดนั้นเริ่มต้นขึ้นที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งพรรคการเมืองทุกพรรคจะเลือกผู้สมัครที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีไว้หมายเลข 1 ส่วนคนที่จะเป็นรัฐมนตรีก็จะอยู่ในลำดับถัดๆ มา การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญนี้ จึงเสมือนกับเป็นการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี ประชาชนมุ่งสนใจว่าจะเอาใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่ค่อยให้ความสนใจต่อผู้จะมาทำหน้าที่ ส.ส.ในเขตของตัวเอง 

แห่เลือกตั้งบัญชีพรรค
ประชาชนแห่เลือกตั้งบัญชีพรรค เพื่อต้องการให้คนหมายเลข 1 ที่ตนเองหลงไหลชื่นชอบ มาเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมจะได้รัฐมนตรีที่เป็นพวกตัวเองขึ้นมาอีกหลายคน เมื่อประชาชนตั้งใจจะเอาใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ย่อมจะเลือก ส.ส.เขตของพรรคการเมืองนั้นๆ ทั่วประเทศอย่างท่วมท้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้พรรคการเมืองที่ตัวเองชื่นชอบได้เป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก 

การเลือกตั้งในสมัยก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้  ยังไม่มีใครทราบว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ผู้แทนจึงต้องหาเสียง และต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชนจริงๆ ถึงจะได้เป็นผู้แทนของเขา  พอพรรคไหนได้เสียงข้างมากแล้วจึงมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แล้วค่อยเลือกนายกรัฐมนตรีกัน

ดังนั้นการเลือกว่าใครจะเป็นเบอร์ 1 ของแต่ละพรรคจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทุ่มเทและปั้นที่เบอร์ 1 นี่แหละ  ส่วนบรรดานายทุนของพรรคนักธุรกิจการเมืองก็ไม่ต้องลงหาเสียง มาเป็นอีแอบในรายชื่อลำดับถัดมาเท่านั้น แค่นี้ก็จะได้เป็นรัฐมนตรีแล้ว 

การเลือกตั้งครั้งแรกของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 (ที่บอกว่าดีที่สุด)
  • พรรคไทยรักไทย เสนอ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เอาไว้ที่หมายเลข 1
  • พรรคประชาธิปัตย์ เสนอนายบัญญัติ  บรรทัดฐาน เอาไว้ที่หมายเลข 2 
ผลปรากฏว่า พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร แห่งพรรคไทยรักไทย ชนะอย่างท่วมท้น (แล้วต่อมาจึงเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า "เผด็จการรัฐสภา" อยากทำอะไรก็ทำได้ตามที่ใจปรารถนา)

การเลือกตั้งในครั้งนั้น ประชาชนทุ่มคะแนนทั้งหมดเพื่อเลือก "ทักษิณ" เป็นนายกฯ  ประชาชนไม่ได้เลือกผู้แทนของเขา ในสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แห่งพรรคเพื่อไทย ก็เหมือนกัน ประชาชนต้องการเลือก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ ไม่ได้ต้องการเลือกผู้แทนของเขา 

ไม่ว่าผู้แทนเขตของเขาที่ลงสมัครจะเป็นใคร จะรู้จักหรือไม่รู้จัก ขอให้สังกัดพรรคเพื่อไทยเท่านั้นเขาก็จะเลือก เพื่อจะได้เป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภา ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ที่ชื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร



ความแตกแยกในประเทศไทย
เพราะการแข่งขันในตัวบุคคลอย่างรุนแรงของการเลือกตั้ง ก่อให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ  ภาคเหนือภาคอิสานต้องการ ยิ่งลักษณ์(เสื้อแดง)  ภาคใต้ ภาคกลางต้องการ อภิสิทธิ์ (เสื้อฟ้า) พวกที่ไม่ต้องการทั้งสองคนก็กลายเป็นพวกอื่นๆ เป็นต้น เหตุการณ์ลักษณะนี้จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนเกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวก เกิดความขัดแย้ง แตกความสามัคคี แบ่งเป็นพวกมึงพวกกู สีมึงสีกู  นายกรัฐมนตรีต้องเป็นของกูไม่ใช่ของมึง  ฯลฯ  พอพวกของใครได้เป็นใหญ่ กุมอำนาจ พวกลูกน้องก็ยะโส เหิมเกริม และหยิ่งผยอง   

วิธีการการเลือกตั้งภายในรัฐธรรมนูญทั้งปี พ.ศ.2540 และ 2550
คือการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่การเลือกตั้งผู้แทนราษฎร

วันนี้ประเทศไทย จึงเกิดการส่องสุม ปลุกปั่น ชักจูง  มอมเมา เพื่อสร้าง "ลัทธิบูชาตัวบุคคลว่าเป็นเทพเทวดา" ดังเช่น  "ลัทธิคนเสื้อแดง" ที่มีให้เห็นเป็นตัวอย่าง  การเลือกตั้งภายใต้ลัทธิบูชาตัวบุคคลนี้  จะเลือกตั้งสักกี่ครั้งกี่หน  คนในลัทธินี้ก็จะได้คะแนนท่วมท้นอยู่ทุกครั้งไป     

ผมเข้าใจสิ่งที่ผู้อาวุโสท่านนั้นกล่าวเอาไว้แล้ว...นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรี, และ ส.ส.(แบบบัญชีรายชื่อ) นี้ ราษฎรไม่ได้เลือกเขา  เพราะคนพวกนี้คือ คนที่พรรคการเมืองคัดเลือกกันขึ้นมาเองเพื่อนำเสนอ  พรรคการเมืองเขาจะเลือกคนเก่ง ดี เลว โง่ ขนาดไหน ราษฎรก็ไม่มีสิทธิ์ออกความคิดเห็น  สรุปได้ว่าคนพวกนี้จึงไม่ใช่ผู้แทนราษฎร อย่างกรณีเช่น หาก"น.ส.ยิ่งลักษณ์ฯ มาลงสมัครเป็น ส.ส.เขตเดียวกันกับ นายอภิสิทธิ์ฯ แล้วชนะ" นั่นจีงหมายถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ฯ เป็นผู้แทนราษฎรโดยแท้จริง         

เมื่อพรรคการเมืองเลือกกันขึ้นมาเอง  เราจึงพบว่า "บ้านเมืองเรา มักจะมีผู้นำ, มีรัฐมนตรี ,มี  ส.ส. ที่ไม่ค่อยเอาไหนอยู่ในสภา เป็นจำนวนมาก"


***********************************     
จุฑาคเชน : 29 พ.ย.2554

ไม่มีความคิดเห็น: