วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ใช้หลักกาลามสูตร ตัดสินใจเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ

7 สิงหาคม 2559 จะเป็นวันออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.....และประเด็นเพิ่มเติม พร้อมกันทั่วประเทศไทย ระหว่างเวลา 08:00-16:00 น.  โดยมีประเด็น 2 ประเด็นที่ต้องออกเสียง คือ
  • ประเด็น "ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช........ทั้งฉบับ" ให้ทำเครื่องหมายกากบาท X ว่า เห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ
  • ประเด็นเพิ่มเติม "ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี" ให้ทำเครื่องหมายกากบาท X ว่า เห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ


จุลสาร 1 เล่ม กับ ความเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้...ปราบโกง 
ผมลองสอบถามครอบครัว ญาติพี่น้อง รวมทั้งพี่น้องเพื่อนฝูงหลายคน ที่มีสิทธิ์ออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ โดยถามว่า เคยอ่านรัฐธรรมนูญฉบับที่เขาให้ไปออกเสียงบ้างไหม ทุกคนตอบทำนองคล้ายๆ กันว่า "ไม่เคยอ่าน" กับ "รู้คร่าวๆ"  และพวกเขาเหล่านี้ก็ไม่มีทีท่าที่แสดงออกถึงความสนใจหรือความกระตือรือล้นที่อยากจะรู้เนื้อหาของรัฐธรรมนูญอีกด้วย   

ข้อมูลที่พวกเขามีตอนนี้ คือ "จุลสารการออกเสียงประชามติ" ฉบับเล็กๆ ที่ทาง กกต.ส่งมาให้ที่บ้านจำนวน 1 เล่มต่อครอบครัว ในเนื้อหามีการสรุปสาระสำคัญบางประการในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมอ่านแล้วรู้สึกว่า มันคล้ายๆ กับนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองมากกว่า ดูคล้ายกับนโยบายประชานิยมหรือการให้คำมั่นสัญญาแก่ประชาชน อะไรทำนองนั้น  ลองดูตัวอย่าง วลีจากบางข้อ เช่น คุ้มครองตั้งแต่ท้องแม่จนแก่เฒ่า, เรียนฟรี 14 ปี ตั้งแต่ก่อนอนุบาลถึง ม.3, ปฎิรูปตำรวจอย่างเร่งด่วน, สกัดคนโกงเข้าสภาด้วยกติกาในรัฐธรรมนูญ, ปฏิรูปประเทศให้เสร็จภายใน 5 ปี,  ป้องกันไม่ให้การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐรั่วไหล, การบริหารงานท้องถิ่นมีความโปร่งใสเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนและประชาชนมีส่วนร่วม ฯลฯ นอกจากนั้น ความเชื่ออีกอย่างหนึ่งที่พวกเขามี คือ ความเชื่อใจใน คสช.และรัฐบาล ที่ว่า  "รัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้ ร่างขึ้นมาเพื่อปราบโกง"  



จากข้อมูลที่มีไม่มาก บวกด้วยความเชื่อใจใน คสช. กับการรณรงค์ออกเสียงประชามติ (สีเทาๆ) โดยภาคราชการ ทหาร ตำรวจ และหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ผมเชื่อได้เลยว่า พวกเขาเหล่านี้ คงให้ความเห็นชอบผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 100% 

ทำไม? ต้องมีประเด็นเพิ่มเติม
ที่ต้องมีการออกเสียงประเด็นเพิ่มเติม ในจุลสารฯ ดังกล่าวให้เหตุผลว่า นายกรัฐมนตรี คือ หัวหน้าทีมคนสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปประเทศประสบผลสำเร็จ ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติต้องใช้เวลาวางรากฐานอย่างน้อย 5 ปีจึงจะเห็นเป็นรูปธรรม ดังนั้นจึงสมควรให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (หมายถึงประชุมร่วมระหว่าง ส.ส.และ ส.ว.) เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี 
บทเรียนจากอดีต
หลายคนหากได้ลองศึกษาเรื่องราวในอดีตย้อนหลังดู  จะมองเห็นเหตุการณ์และสถานการณ์หลายอย่างมีความคล้ายคลึงกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น

  • การรัฐประหารเงียบของโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อปี พ.ศ.2501 รัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ ถูกใช้ปกครองบ้านปกครองเมืองอยู่ถึง  13 ปี และอ้างว่ากำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เหมาะสมอยู่  (ดูรายละเอียด)
  • เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อปี พ.ศ.2535  หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจจาก พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี และสัญญาว่าจะคืนประชาธิปไตยให้ประชาชนโดยเร็ว แต่กลับมอบรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจแทน เกิดการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอก จนเกิดปรากฏการณ์ "เสียสัตย์เพื่อชาติ" (ดูรายละเอียด)
  • ฯลฯ
วันนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คงได้ถอดบทเรียนในอดีตที่ว่ามาหมดแล้วเช่นกัน จึงสามารถอุดช่องว่างและลดเงื่อนไขต่างๆ ที่อาจเป็นสาเหตุก่อให้เกิดสถานการณ์อันเลวร้ายขึ้นได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่ผมไม่อาจคาดเดาได้ว่า เมื่อผลของการออกเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฯ ออกมาแล้ว เหตุการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต่อไป 

เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ
ปัจจุบัน ข่าวสารเรื่องการให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ ล้วนหลั่งไหลเข้ามาสู่ประชาชนจำนวนมากมายหลายช่องทาง ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ และเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ แต่ส่วนใหญ่ข่าวสารของการเห็นชอบจะมีมากกว่า เพราะ คสช.และรัฐบาล ไม่เปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวาง   

ดังนั้น ทุกคนจึงควรมีวิธีการที่จะตัดสินใจที่ดีว่าข่าวสารที่ได้รับมานั้นเป็นเท็จ เป็นจริง แค่ไหน ก่อนที่จะตัดสินใจทำอย่างหนึ่งอย่างใดลงไป 



ใช้หลักกาลามสูตร ตัดสินใจ
กาลามสูตร คือ พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ชาวกาลามะ หมู่บ้านเกสปุตตนิคม แคว้นโกศล กาลามสูตรเป็นหลักแห่งความเชื่อที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ให้แก่พุทธศาสนิกชน ไม่ให้เชื่อสิ่งใด ๆ อย่างงมงายโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นจริงถึงคุณหรือโทษ ดีหรือไม่ดี ก่อนที่จะเชื่อ ซึ่งมีหลักอยู่ 10 ประการ ได้แก่ (ขออนุญาตปรับปรุงคำพูดให้เข้าใจง่ายๆ ครับ)

  1. อย่าเชื่อ ด้วยการฟังหรือการบอกเล่าต่อๆ กันมา
  2. อย่าเชื่อ เพราะว่าเป็นสิ่งที่เขาทำตามๆ กันมา 
  3. อย่าเชื่อ เพราะว่าเขาเล่าลือกันกระฉ่อนไปหมดว่ามันเป็นความจริง
  4. อย่าเชื่อ เพราะว่ามันมีอ้างอยู่ในตำรา หนังสือ หรือทฤษฎี
  5. อย่าเชื่อ เพราะว่ามันเป็นตรรก หรือจากการคำนวณ
  6. อย่าเชื่อ โดยการอนุมานเทียบเคียง หรือการคาดคะเนเอาเอง
  7. อย่าเชื่อ โดยการตรึกตรองเอาตามอาการ
  8. อย่าเชื่อ เพราะมันตรงกับความเชื่อหรือทฤษฎีของตัวเอง 
  9. อย่าเชื่อ เพราะมองเห็นรูปร่างลักษณะที่น่าเชื่อถือได้
  10. อย่าเชื่อ เพราะผู้ที่บอกเป็นครู อาจารย์ของเรา
ท่ามกลางกระแสและเกมการเมืองที่ร้อนแรงระหว่าง คสช. นปช. พรรคการเมือง และภาคประชาสังคม ในขณะนี้ หลักกาลามสูตรที่พระพุทธองค์ได้ทรงให้ไว้ ถือว่าเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่จะทำให้เราสามารถแยกแยะได้ว่า อะไรคือสิ่งที่เราควรตัดสินใจ

การออกเสียงประชามติครั้งนี้ จงคิดพิจารณาไตร่ตร่องให้ดี เพราะอนาคตของประเทศไทยในวันข้างหน้าอยู่ในมือของท่านทุกคน 


***********************
ชาติชยา ศึกษิต : 26 ก.ค.2559

ข้อมูลที่ควรอ่านประกอบการตัดสินใจ (โปรดทำใจให้เป็นกลาง มองหลายๆ มุม)

ไม่มีความคิดเห็น: