วันเสาร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

จ่ายค่าตอบแทนผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพครูทั่วทั้งประเทศ ไม่จำกัดเฉพาะครูที่เป็นข้าราชการ

ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เป็นใบอนุญาตให้สามารถประกอบวิชาชีพนั้น ๆ ตามสาขาที่เรียนมา โดยผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจะต้องมีคุณสมบัติตามที่องค์กรออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ กำหนดไว้ ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจะไม่สามารถประกอบวิชาชีพนั้น ๆ ได้ ถ้าฝ่าฝืนจะมีโทษตามที่องค์กรวิชาชีพแต่ล่ะองค์กรกำหนดไว้

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีวิชาชีพที่ต้องมีใบอนุญาตเพื่อประกอบวิชาชีพ ได้แก่
  • ใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ ออกโดย แพทยสภา
  • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ออกโดย แพทยสภา
  • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรม ออกโดย ทันตแพทยสภา
  • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ออกโดย สัตวแพทยสภา
  • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ออกโดย สภาเภสัชกรรม
  • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ออกโดย สภาการพยาบาล
  • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ออกโดย สภาเทคนิคการแพทย์
  • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัด ออกโดย สภากายภาพบำบัด
  • ใบอนุญาตให้เป็นทนายความ ออกโดย สภาทนายความ 
  • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ออกโดย สภาวิศวกร
  • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม ออกโดย สภาสถาปนิก
  • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ออกโดย คุรุสภา
  • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม ออกโดย สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพ
ค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพแต่ละสาขา มีอัตราที่แตกต่างกัน และในแต่ละสาขายังแบ่งค่าตอบแทนอีกเป็นหลายระดับ เช่น  ในทางราชการ กำหนดให้ แพทย์ ได้รับตั้งแต่ 5,000 ไปจนถึง 15,000 บาทต่อเดือน เภสัชกร ตั้งแต่ 1,500 ไปจนถึง 3,000 บาทต่อเดือน เป็นต้น  สำหรับภาคเอกชนบางแห่ง  อาจจ่ายค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพแต่ละสาขาสูงกว่าทางราชการหลายเท่านัก เช่น อาชีพวิศวกร เป็นต้น 

การต่ออายุใบประกอบวิชาชีพของแต่ละสาขาอาชีพ จะมีระยะเวลาที่กำหนดไม่เท่ากัน รวมถึงวิธีการวัด ประเมินผล และกระบวนการที่แตกต่างกันไป เพื่อที่จะใช้วัดความสามารถของผู้ที่จะขอต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพนั้นๆ ตามเทคนิคของตนเอง  


ค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพครู
ค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพครู ไม่มีกฏหมายใดๆ รองรับว่าจะได้เท่าไหร่ต่อเดือน แต่ที่พอมองเห็นอยู่ในปัจจุบัน ในทางราชการเขาใช้คำว่า "ค่าวิทยฐานะ"  ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่ง ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พศ.2547  ซึ่งระบุตอนหนึ่งไว้ว่า 

วิทยฐานะข้าราชการครูที่มีใบประกอบวิชาชีพครู
  • ครูเชี่ยวชาญพิเศษ   คศ.5  เงินวิทยฐานะ   15,600 บาท/เดือน
  • ครูเชียวชาญ           คศ.4  เงินวิทยฐานะ    9,900 บาท/เดือน
  • ครูชำนาญการพิเศษ  คศ.3  เงินวิทยฐานะ    5,600 บาท/เดือน
  • ครูเชียวชาญพิเศษ    คศ.2  เงินวิทยฐานะ    3,500 บาท/เดือน
วิทยฐานะศึกษานิเทศน์มีใบประกอบวิชาชีพ 
  • ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญพิเศษ     เงินวิทยฐานะ   15,600 บาท/เดือน
  • ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ             เงินวิทยฐานะ    9,900 บาท/เดือน
  • ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ   เงินวิทยฐานะ    5,600 บาท/เดือน
  • ศึกษานิเทศก์ชำนาญการ           เงินวิทยฐานะ    3,500 บาท/เดือน 
วิทยฐานะผู้บริหารสถานศึกษามีใบประกอบวิชาชีพ
  • ผู้อำนวยการเชี่ยวชาญพิเศษ       เงินวิทยฐานะ   15,600 บาท/เดือน
  • ผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ                เงินวิทยฐานะ    9,900 บาท/เดือน
  • ผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ     เงินวิทยฐานะ    5,600 บาท/เดือน
  • ผู้อำนวยการชำนาญการ               เงินวิทยฐานะ    3,500 บาท/เดือน
  • รองผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ            เงินวิทยฐานะ    9,900 บาท/เดือน
  • รองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ  เงินวิทยฐานะ    5,600 บาท/เดือน
  • รองผู้อำนวยการชำนาญการ          เงินวิทยฐานะ    3,500 บาท/เดือน
ค่าวิทยฐานะนี้ไม่เกี่ยวกับเงินเดือนของครูแยกออกจากกัน ซึ่งก็เปรียบเสมือนค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพครูนั้นเอง  แต่รัฐจำกัดให้เฉพาะ "ผู้ที่เป็นข้าราชการครูหรือผู้ที่เป็นบุคลากรทางการศึกษาของรัฐ" เท่านั้น 

ด้วยเงินค่าวิทยะฐานะต่อเดือนจำนวนมากนี้เอง ปัจจุบันจึงทำให้ครูของรัฐต้องวุ่นวายอยู่กับการเลื่อนวิทยฐานะมากกว่าการสอนเด็ก รัฐต้องนั่งคิดหาหลักเกณฑ์ต่างๆ กันใหม่อยู่เรื่อยจนครูรัฐบาลสับสนไปหมด    

ทำไม? ครูคนอื่นจึงไม่มีค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพ
เงินภาษีทั้งหลายที่รัฐเก็บได้ จัดสรรส่วนหนึ่งนำไปจ่ายค่าวิทยฐานะให้ครูและบุลคลากรทางการศึกษาเฉพาะที่เป็นข้าราชการของรัฐจำนวนมาก โดยไม่ได้คำนึงถึงครูเอกชนหรือครูประเภทอื่นๆ ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่และมีใบประกอบวิชาชีพครูเหมือนกัน อีกทั้งงบประมาณสำหรับการอบรมและพัฒนาครู ก็จำกัดเฉพาะครูของรัฐอีกต่างหาก ใช้เงินงบประมาณมากมายขนาดนี้แล้ว ครูของรัฐยังถูกกล่าวหาว่า "ไม่มีคุณภาพเสียอีก"  จึงมีคำถามว่า มันเกิดอะไรขึ้น?   

ผมไม่ได้หมายความว่า รัฐจะต้องรับภาระมาจ่ายค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพให้กับครูเอกชน หรือครูสังกัดอื่นๆ เพราะมันอาจเป็นภาระมากเกินไป แต่รัฐก็ควรหามาตรการหรือแนวทางการส่งเสริม  

ทำอย่างไร? ผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพครูทั่วทั้งประเทศ ควรที่จะได้รับค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพเหมือนกับสาขาวิชาชีพอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นครูของรัฐ ครูเอกชน หรือครูที่อยู่ในสังกัดอื่นใดก็ตาม อย่างเช่น
  • ออกกฏหมายหรือระเบียบว่าด้วย "การกำหนดอัตราการจ่ายค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพครูในประเทศไทย"  ไม่ว่าจะเป็นครูของรัฐ ครูเอกชน หรือครูในสังกัดอื่นๆ
  • เปลี่ยน ค่าวิทยฐานะเดิมของข้าราชการครู ให้เป็น ค่าตอบแทน 
  • เพื่อไม่ให้เป็นภาระด้านงบประมาณของรัฐมากเกินไป รูัฐอาจกำหนดให้เงินอุดหนุนเป็นค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพแก่ครูในโรงเรียนเอกชนหรือในสังกัดอื่นๆ  ในสัดส่วนใดสัดส่วนหนึ่ง เช่น รัฐ ร้อยละ 50 และโรงเรียนเอกชนออกเองร้อยละ 50 เป็นต้น ส่วนค่าตอบแทนครูที่เป็นข้าราชการ รัฐคงต้องจ่ายเอง 
ได้ครูที่มีคุณภาพทั่วทั้งประเทศ
  • หากทำเช่นนี้ได้ ผมว่าจะมีเด็กเก่งๆ หันมาเรียนเพื่อเป็นครูกันมากขึ้น เพราะหลังจากจบมีใบประกอบวิชาชีพครูแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการครูของรัฐก็ได้  สามารถไปสอนอยู่ในโรงเรียนเอกชน หรือโรงเรียนในสังกัดอื่นใดก็ได้ ดังเช่น อาชีพแพทย์ เภสัช วิศวกร เป็นต้น 
  • ใบประกอบวิชาชีพครูจะมีคุณค่าสำหรับครูทุกคน และครูเหล่านั้นจะต้องพึงรักษาความเป็นมืออาชีพอยู่เสมอด้วยเกณฑ์การวัดและประเมินผลอย่างเข้มข้นในกระบวนการขอต่อใบอนุญาตของคุรุสภา (เหมือนกับองค์กรวิชาชีพอื่นๆ ที่เขาทำ)
  • ที่สำคัญที่สุด เราจะได้ครูที่มีคุณภาพทั่วทั้งประเทศ เพราะเขาต้องพัฒนาความเป็นมืออาชีพของเขาอยู่เสมอเพื่อแลกกับค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพที่ได้รับ 
ที่นำเสนอมานี้ เป็นเพียงแค่แนวคิดเบื้องต้น ถ้าคิดว่ามีความเป็นไปได้ คงต้องมีการศึกษากันอย่างละเอียด จากเจ้าของกระทรวง ทบวงกรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ  เพื่อให้มีความรอบคอบ มีการจัดวางกฏเกณฑ์อีกหลายขั้นตอน   แต่ก็ดีกว่าไม่คิดอะไรเลย...

หากเราคิดเหมือนเดิมๆ แล้วอยากจะได้สิ่งใหม่ 
ผมว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอกครับ 

******************************* 
ชาตชยา ศึกษิต : 22 ก.ค.2560 

ที่มาข้อมูล
  • วิกีพีเดีย. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ. (https://th.wikipedia.org/wiki/ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ) สืบค้นเมื่อ 22 ก.ค.2560
  • พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่ง ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พศ.2547 

วันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

การใช้คำถาม 5 ข้อ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก่อนตัดสินใจ

ตอนนี้เริ่มมีการนำ "ศาสตร์พระราชา" มาใช้ในการจัดทำโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ กันมากขึ้น มุ่งประสงค์ก็เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ผมรู้สึกชื่นชมที่หลายคนหลายองค์กรพยายามถอดความรู้เกี่ยวกับ " หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง"  ซึ่งในหลวงฯ รัชกาลที่ 9 ได้ทรงมอบไว้เป็นหลักคิดสำคัญแก่คนไทย ไม่เว้นแม้แต่คนต่างชาติในหลายประเทศก็นำไปใช้แล้วเช่นกัน


หลักการสำคัญของแนวคิดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล ความมีภูมิคุุ้มกันที่ดี ภายใต้เงื่อนไขของการมีความรู้และความมีคุณธรรม 

แต่ว่าการกระทำหลายอย่างที่เราได้พบเห็นอยู่ในปัจจุบัน ผมเห็นว่า พวกเราหรือแม้แต่ตัวผมเองก็ยังไม่สามารถถอดรหัสความรู้เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้แจ่มชัดนัก เพราะยังมีความสับสนในการที่จะนำมาเป็นหลักคิดพื้นฐานของการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ

คำถาม 5 ข้อ 
ผมฟังจากอาจารย์ท่านหนึ่งบรรยายเอาไว้ในหลักสูตร e-learning โครงการ “สร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม” (New Entrepreneurs Creation) ซึ่งจัดทำโดยสำนักพัฒนาผู้ประกอบการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม   ท่านบรรยายว่า ลองใช้คำถาม 5 ข้อ แล้วตอบด้วยตัวเองดูว่า จะสอดคล้องกับหลักคิดตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ ดังนี้
  1. ทำไม? เราต้องทำ : หากเราตอบได้จะสอดคล้องกับ "ความมีเหตุมีผล"
  2. แล้วเราจะทำแค่ไหน? : หากเราตอบได้จะสอดคล้องกับ "ความพอประมาณ"
  3. แล้วเรามีแผนหรือยุทธศาสตร์สู่เป้าหมายที่จะทำชัดเจนแค่ไหน? และมีแผนฉุกเฉินเตรียมไว้บ้างหรือปล่าว? : หากเราตอบได้จะสอดคล้องกับ "ความมีภูมิคุ้มกันที่ดี"
  4. เราได้ศึกษาคนที่เขาทำมาก่อนเพื่อวิเคราะห์ เปรียบเทียบ เสริมจุดแข็ง ลบจุดอ่อน หรือยัง?  : หากตอบได้จะสอดคล้องกับเงื่อนไขของ "การมีความรู้"
  5. สิ่งที่เราทำเกิดประโยชน์ หรือมีผลกระทบทางลบกับประชาชน สังคม และสิ่งแวดล้อมหรือไม่? : หากตอบได้จะสอดคล้องกับเงื่อนไขของ "ความมีคุณธรรม"
ไม่ว่าผู้อ่านกำลังจะทำอะไรสักอย่าง ลองตอบคำถาม 5 ข้อนี้ดู ท่านจะได้รู้ว่า นั่นแหละคือหลักคิดตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  หากเริ่มต้นด้วยเหตุผลไม่พอแล้ว ก็หยุดทำเสีย และหากท่านตัดสินใจทำแล้ว ท่านก็จะได้ไม่โลภมากจนเกินพอดี  มีแผนการทำงานเพื่อประกันความสำเร็จ มีความรู้ในการทำงาน และมีคุณธรรมต่อสังคม  


ก่อนคิดโครงการและแผนงาน
งบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศไทย ล้วนมีต้นกำเนิดมาจากโครงการและแผนงานของกระทรวง ทบวงกรม ต่างๆ เกือบทั้งสิ้น (ตามภาพด้านบน) ดังนั้นการคิดโครงการหรือแผนงานใดๆ หากยึดหลักคำถาม 5 ข้อ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว จะเป็นวิธีที่ใช้งบประมาณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่า อย่าลืมว่าปัจจุบัน "ประเทศไทยไม่ได้ร่ำรวย ยังต้องกู้เงินต่างประเทศมาใช้จ่ายในบ้านตัวเอง" ซึ่งมันสวนทางกับคำว่าพอเพียงหรือพอประมาณอย่างสิ้นเชิง ลองแค่ตอบคำถามข้อแรก ซึ่งหากไม่เข้าข้างตัวเอง มีความเป็นกลาง และมีเหตุผลเพียงพอแล้ว ก็ทำต่อ หากคิดว่าไม่สมเหตุสมผลก็ควรหยุดทำ เช่น
  • ทำไม? เราต้องซื้อเครื่องบิน รถถัง และเรือดำน้ำ
  • ทำไม? เราต้องรีบเร่งสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา
  • ทำไม? เราต้องใช้เงินมหาศาลเพื่อกำจัดผับชวา
  • ทำไม? เราต้องใช้ยางพาราทำถนน 
  • ทำไม? เราต้องปฏิรูปตำรวจ
  • ทำไม? เราต้องปราบปรามการทุจริต คอรัปชั่น
  • ทำไม? เราต้องเชิญชาวต่างประเทศมาลงทุนในบ้านเรา
  • ทำไม? เราต้อง.................??????? 
เหตุเพราะประเทศไทยของเรามีรายได้น้อย เป็นประเทศกำลังพัฒนา ต้องกู้หนี้ยืมสินเขามาใช้จ่าย  ดังนั้น หากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนเลือกโครงการที่มีความจำเป็นตามลำดับความเร่งด่วนที่แท้จริงแล้ว จะช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศลงได้มาก ไม่ใช่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ อย่างเช่นโครงการหลายโครงการในทุกวันนี้

**********************
จุฑาคเชน : 20 ก.ค.2560

วันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

คูปองพัฒนาครู 10,000 บาท ขอให้ครูเอกชนและครู อปท.บ้างได้ไหม?

กระทรวงศึกษาธิการ ใช้งบประมาณแผ่นดิน แจกคูปองพัฒนาครูสังกัด สพฐ. จำนวน10,000 บาทต่อคนต่อปี เป็นนโยบายที่ดี แต่ควรให้คูปองนี้ แก่ครูสังกัดอื่นๆ ด้วย



นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวมอบนโยบายให้แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ตอนหนึ่งว่า

"สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการพัฒนาครูนั้น เท่าที่ดูขณะนี้มีอยู่ประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่มีการใช้แบบกระจัดกระจาย ต่อไปนี้ การอบรมครูตนจะใช้เป็นระบบคูปอง โดยจะให้คูปองกับครูจำนวน 10,000 บาทต่อคนต่อปี เพื่อเลือกไปเข้าอบรมพัฒนาตัวเองให้สอดคล้องกับการเลื่อนวิทยฐานะ ซึ่งปัจจุบันเรามีครูทั่วประเทศกว่า 400,000 คน จะใช้งบเพียง 4,000 ล้านบาทเท่านั้น จะทำให้ประหยัดงบไปได้มาก จะได้นำเงินส่วนที่เหลือไปพัฒนาครูด้านอื่นๆ ต่อไป" 
(ที่มาข้อมูล : ไทยโพสต์ :  http://www.thaipost.net/?q=แจกคูปองพัฒนาครู1หมื่นบคนปี)

ครูไม่ใช่จะมีเฉพาะ สพฐ.
ปัจจุบัน ครูที่สอนนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลายนั้น ไม่ใช่จะมีแต่เฉพาะข้าราชการครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เท่านั้น  แต่ยังมีครูในโรงเรียนเอกชน ที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และครูที่สังกัดองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อีกด้วย หากเอาตัวเลขกลมๆ พอที่จะสรุปจำนวนได้ ดังนี้
  • ครู สังกัด สพฐ. จำนวน 400,000 คน คิดเป็นร้อยละ 74
  • ครู สังกัด สช.    จำนวน 111,500 คน คิดเป็นร้อยละ 21
  • ครู สังกัด อปท. จำนวน   30,000 คน คิดเป็นร้อยละ 5 
ดังนั้น ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กนักเรียนทุกคน ล้วนเป็นความรับผิดชอบของครูทุกคน ทุกสังกัด 


พ่อต้องดูแลลูกๆ ทุกคนอย่างทั่วถึง
กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้รับผิดชอบการศึกษาของแผ่นดินในภาพรวม นำงบประมาณแผ่นดินมาพัฒนาครู นั้นถือเป็นนโยบายที่ดี แต่ไม่ควรจำกัดเฉพาะ ครู สพฐ. ครูในสังกัด สช. และครูในสังกัด อปท. ก็สมควรที่จะได้รับการพัฒนาด้วย เหตุผลเพราะ 
  • ครูทุกคน ทุกสังกัด ควรได้รับสิทธิคูปองการพัฒนาครู ซึ่งนำมาจากงบประมาณแผ่นดิน เพราะผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของชาติในภาพรวมล้วนขึ้นอยู่กับครูทุกคน ทุกสังกัด
  • การใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อพัฒนาครูเฉพาะในสังกัด สพฐ. จึงไม่เป็นธรรมกับนักเรียนและผู้ปกครองในสังกัดอื่นๆ 
  • นักเรียนทุกคน ทุกสังกัด ควรมีสิทธิที่จะมี "ครู" ที่ได้รับการพัฒนาจากรัฐ เหมือนๆ กัน
กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะพ่อ ต้องดูแลลูกๆ ทุกคนอย่างทั่วถึง ไม่ใช่ดูแลเฉพาะพี่ สพฐ. แต่ น้อง สช. และ น้อง อปท. กลับไม่เหลียวแล

1,460 หลักสูตร
ตอนนี้ สถาบันคุรุพัฒนา ได้รับรองหลักสูตรการพัฒนาครูของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว จำนวนถึง 1,460 หลักสูตร ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ดีๆ ทั้งนั้น 
น่าเสียดายที่ ครูเอกชน และครู อปท.คงไม่มีโอกาสได้เข้าไปอบรม 

ท่าน รมว.ศธ. บอกว่ามีงบประมาณพัฒนาครู 10,000 ล้านบาท แจกคูปองให้ครู สพฐ. 4,000 ล้านบาท ยังพอมีเงินเหลือ 

หากท่านจะกรุณาแล้ว เงินส่วนที่เหลือแบ่งจ่ายให้ ครูเอกชน ซึ่งสังกัด ศธ. เหมือนกัน สัก 1,115 ล้านบาท และ ครู สังกัด อปท. กระทรวงมหาดไทย สัก 300 ล้านบาท เพื่อไปพัฒนาตนเองก็น่าจะดีนะครับ เพื่อคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยทุกคนอย่างทั่วถึง ไม่ว่าเขาจะเรียนอยู่ในสังกัดใด

********************
ชาติชาย คเชนชล : 13 ก.ค.2560