วันอังคารที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ความผิดของหนูหรือ ที่ไม่ได้เป็นครู

ผมอ่านเรื่องราวของผู้หญิง 2 คนที่ต้องฝันสลายจากการเป็นครู เพียงเพราะมติคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดฯ เพียงไม่กี่คน ที่อ้างว่าไม่เป็นไปตามหลักการใน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ แต่ท่านคงไม่ทราบว่ามติของท่านได้ทำลายจิตใจของผู้หญิงตัวเล็กๆ และครอบครัวของเธอถึง 2 คน ซึ่งเธอไม่ได้ผิดอะไรเลย นอกจากนั้นยังเกิดคำถามแก่เด็กๆ นักเรียนของ รร.อุ้มผางวิทยาคม อีกด้วยว่า "จะเอาครูของหนูไปไหน"  และซ้ำร้ายยังทำให้มองเห็นถึงระบบราชการของกระทรวงศึกษาธิการที่ห่วยแตก ซึ่งทำงานไม่ประสานสอดคล้องกัน 

 น.ส.นิราวัลย์ เชื้อบุญมี (ครูวัลย์) และ น.ส.วนาลี ทุนมาก(ครูแอน) 

เรื่องราวดังกล่าวที่เกิดขึ้น ผมพอสรุปสั้นๆ ได้ดังนี้      

ขอเปลี่ยนบรรรจุวิชาเอกสังคมศึกษาแทน 
เดิม รร.อุ้มผางวิทยาคม อ.อุ้มผาง จ.ตาก ได้ขอเปิดบรรจุครูผู้ช่วยวิชาเอกคณิตศาสตร์ จำนวน 1 ตำแหน่ง แต่ไม่มีใครมารายงานตัวและบัญชีรายชื่อวิชาเอกคณิตศาสตร์หมดแล้ว รร.อุ้มผางวิทยาคม จึงขอบรรจุครูผู้ช่วยวิชาเอกสังคมศึกษาแทน ไป 2 คน เพราะขาดแคลนเช่นกัน 

ไปตามคำสั่ง ได้เป็นครูสมใจ
น.ส.วนาลี ทุนมาก(ครูแอน) ชาว จ.สุโขทัย และ น.ส.นิราวัลย์ เชื้อบุญมี (ครูวัลย์) ชาว จ.เลย ซึ่งสอบติดครูผู้ช่วยอันดับที่ 66 และ 67 ตามลำดับของบัญชีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) เขต 38 (สุโขทัย-ตาก) จึงได้รับการเรียกบรรจุและแต่งตั้งลงโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม จ.ตาก สาขาเอกสังคมศึกษา  
บัญชีบรรจุ และคำสั่งเรียกตัว

โดยทั้งคู่ได้ไปรายงานตัวที่โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 ซึ่งเหลือเวลาอีก 6 วัน ก่อนที่บัญชีจะหมดอายุในวันที่ 10 พฤษภาคม 2560  


สอน 5 เดือน ฟรี
ครูทั้งสอง ได้เริ่มสอนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กันยายน 2560 เป็นต้นมา รวม 5 เดือน โดยไม่ได้รับเงินเดือนแต่อย่างใด โดยทั้งสองเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติตามขั้นตอนระเบียบของราชการที่มักเกิดความล่าช้า



กศจ.ตาก มีมติไม่อนุมัติ
ย่างเข้าสู่เดือนที่ 6  ในวันที่ 24 ต.ค.2560  สพม.เขต 38 มีหนังสือถึง รร.อุ้มผางวิทยาคม ระบุว่า 
"คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดตาก (กศจ.ตาก) มีมติไม่อนุมัติการขอปรับเปลี่ยนวิชาเอกและขอเพิ่มเติมตำแหน่งว่างของโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม และไม่อนุมัติการบรรจุและแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้สาขาวิชาเอกสังคมศึกษา จากบัญชี สพม. เขต 38 โดยอ้างเกิน 2 ปี" 

ฝันสลาย - พ้นจากครูผู้ช่วย
จากมติของ กศจ.ตาก ทำให้ครูแอน และครูวัลย์ ต้องพ้นจากครูผู้ช่วยไปในบัดดล 

อาชีพครูเป็นอาชีพที่หนูใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็ก เมื่อสอบติดได้รับการบรรจุ ทั้งหนูและพ่อแม่พากันดีใจและภาคภูมิใจมาก แม้ต้องขึ้นดอยไปสอนที่ห่างไกลก็เต็มใจและมีความสุข แต่สุดท้ายความฝันทุกอย่างก็ต้องสลายไป หลังมีคำสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้หนูเป็นครูสอนได้เพียงแค่ 5 เดือนกว่าๆ โดยไม่ได้รับเงินเดือนแม้สักบาทเดียว .....”

เสียงของครูแอน ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่เรียนจบจากคณะครุศาสตร์ เอกสังคมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ที่มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นครูที่ดี

"ถึงวันนี้ก็ยังทำใจไม่ได้เมื่อคิดถึงภาพเด็กๆ ที่อุ้มผางวิทยาคมวิ่งตามรถตอนหนูออกมา พวกเขาถามว่าครูจะไปไหน ทำไมไม่กลับมา”




นายบุญรักษ์ รอดเพชร เลขาธิการ กพฐ. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
"รร.อุ้มผางวิทยาคม ขาดแคลนครูทุกสาขา เฉพาะวิชาสังคมศึกษาขาดแคลน ถึง 7 คน  เมื่อมีอัตราว่าง ประกอบกับสาขาวิชาเอกคณิตศาสตร์ ไม่มีผู้สอบมารายงานตัว ทางโรงเรียนจึงขอครูวิชาเอกสังคมศึกษาไปทั้ง 2 อัตรา ทั้งนี้ บัญชีวิชาเอกคณิตศาสตร์หมดแล้ว ไม่สามารถเรียกรายชื่อสำรองขึ้นมาได้อีก จึงใช้วิชาเอกสังคมศึกษาแทน ..." 
(ที่มา มติชนออนไล์ 5 พ.ย.2560 https://www.matichon.co.th/news/721535)

ใครผิด
เรื่องนี้เริ่มต้นจาก รร.อุ้มผางวิทยาคม เสนอขออนุมัติบรรจุครูเอกสังคมศึกษา (ซึ่งขาดแคลนเช่นกัน) แทนครูเอกคณิตศาสตร์ที่ไม่มีผู้มารายงานตัวและไม่มีบัญชีรายชื่อแล้ว  นับเป็นสิ่งที่เหมาะสมคือ "ต้องการครูให้เด็กนักเรียน"  

จากนั้นทาง สพม.38 ก็มีหนังสือราชการไปถึงครูแอนและครูวัลย์ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ครูที่ รร.อุ้มผางวิทยาคม ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค.2560 ซึ่งการอนุมัติเป็นไปตามมติของ กศจ.ตาก และ กศจ.สุโขทัย ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ดีเช่นกันคือ "หาครูให้เด็กนักเรียน"

แต่สิ่งที่มันดูทะแม่งๆ ก็คือ อีก  เดือนต่อมา ทาง กศจ.ตาก กลับมีมติไม่อนุมัติให้บรรจุครูแอนและครูวัลย์ ฯ  เรื่องนี้แหละครับที่มันน่าสงสัยว่า ทำไม? จึงมีการกลับมติและเกิดความล่าช้าขนาดนี้  ทำเช่นนี้เท่ากับ "ไล่ครูไม่ให้สอนเด็กนักเรียน"   

นี่คือการแสดงให้เห็นถึงความห่วยแตกของระบบราชการของกระทรวงศึกษาธิการที่ทำงานล่าช้าและไม่ประสานสอดคล้องกัน หรืออาจเป็นความบกพร่องของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดตาก  ที่ไม่ได้ศึกษาข้อเท็จจริงให้ดีเสียก่อนที่จะมีมติเช่นนั้น

ถึงเวลาแล้วที่ กศจ.ตาก ต้องทบทวนมติใหม่ โดยขอให้คำนึงถึงประโยชน์ของเด็กนักเรียนเป็นสำคัญ  ผมมั่นใจว่า "ทุกปัญหาสามารถแก้ไขได้" หากท่านไม่เถรตรงหรือทิฐิมากจนเกินไป

*****************************           
ชาติชยา ศึกษิต 7 พ.ย.2560

ไม่มีความคิดเห็น: